จุดประสงค์ของบล็อกนี้

บล็อกเกอร์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการเรียนการสอนวิชาอินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเพื่อให้ผู้ที่สนใจในเรื่องการเมืองไทยเข้ามาศึกษาเพิ่มเติมได้

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

การเมืองไทยในทัศนะสามก๊ก



การเมืองไทยในสถานการณ์ปัจจุบันนี้กำลังได้รับการกล่าวขวัญเปรียบเทียบกับวรรณคดีเรื่องสามก๊กมากขึ้นทุกที ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วเป็นเรื่องต่างยุคต่างสมัย เป็นเรื่องต่างเหตุการณ์ และต่างสถานการณ์จนแทบเทียบกันไม่ได้ 
            แต่การเปรียบเทียบเหตุการณ์บ้านเมืองกับเรื่องสามก๊กนั้น อาจทำให้เข้าใจความคลี่คลายของสถานการณ์หรือสามารถใช้เปรียบเทียบในลักษณะข้างเคียงกับเหตุการณ์ในสามก๊กได้ และอาจทำให้คาดหมายต่อไปได้ด้วยว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปอีก

            ดังนั้นแม้เป็นเรื่องต่างเวลา วาระ ต่างสถานการณ์ ก็ตามที แต่โดยนัยยะที่กล่าวมานี้ การมองการเมืองในทัศนะของสามก๊กก็อาจเป็นประโยชน์และทำให้เกิดความบันเทิงเริงอารมณ์ได้บ้าง ดีกว่าที่จะมัวหมกมุ่นหรือตึงเครียดกับความเป็นไปในบ้านเมือง

            ดังนั้นจึงขอลองมองการเมืองไทยในทัศนะของสามก๊กตามความนิยมดังกล่าวบ้าง ซึ่งอาจจะคล้ายหรืออาจจะต่างกับการเปรียบเทียบของท่านผู้อื่นก็อย่าได้ถือสาหาความแก่กันเลย 
            ที่สำคัญ อย่าได้คิดหรือเข้าใจว่าสภาพที่เป็นอยู่ในบ้านเมืองของเรานี้จะเป็นไปหรือจะเปรียบเทียบกันได้อย่างแท้จริงกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในสามก๊ก ขอให้ถือเสียว่าเป็นการออกความคิดความเห็นในทางประเทืองอารมณ์และสติปัญญา ก็จะเป็นประโยชน์

            เมื่อกล่าวถึงเรื่องสามก๊ก ก็ต้องทำความเข้าใจว่าในขณะที่เกิดเป็นสามก๊กนั้น ประกอบด้วยก๊กเว่ยซึ่งมีโจโฉเป็นผู้นำ ก๊กจ๊กซึ่งมีเล่าปี่เป็นผู้นำ และก๊กง่อซึ่งมีซุนกวนเป็นผู้นำ ในขณะที่สภาพความเป็นจริงของแผ่นดินจีนยุคนั้นยังมีหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งไม่ขึ้นกับก๊กไหน และบ้างก็อยู่ห่างไกลจนอิทธิพลของก๊กทั้งสามแผ่ไปไม่ถึงก็ยังมี

            ในบรรดาก๊กทั้งสามต้องถือว่าก๊กเว่ยของโจโฉนั้นเป็นก๊กที่ครองอำนาจรัฐภายใต้พระปรมาภิไธยของพระเจ้าเหี้ยนเต้แห่งราชวงศ์ฮั่น โดยโจโฉดำรงตำแหน่งเป็นอัครมหาเสนาบดี หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้

            โจโฉมีอำนาจมากกว่าใครในแผ่นดิน เคยมีที่ปรึกษายุยงให้ล้มราชบัลลังก์เสีย จนโจโฉเกือบจะเออออห่อหมกตามพวกประจบสอพลอไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่มาเฉลียวใจคิดได้ว่าแผ่นดินฮั่นสถาปนามากว่า 400 ปีแล้ว ย่อมมีขุนนางและราษฎรผู้จงรักภักดีอยู่เป็นอันมาก หากพลาดพลั้งก็จะเสียทีจนตัวตายและสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง 
            โจโฉคิดอย่างนั้นแล้ว จึงคิดอุบายประลองกำลังทางการเมืองกับพระเจ้าเหี้ยนเต้ ซึ่งมีรายละเอียดมาก กล่าวไม่หมดในที่นี้ แต่เอาเป็นว่าผลการประลองกำลังทางการเมืองประจักษ์ชัดว่าหากคิดล้มล้างราชบัลลังก์แล้ว ก็จะไปไม่ตลอด ดีไม่ดีก็จะสูญเสียอำนาจที่มีอยู่

            ดังนั้นโจโฉจึงกำหนดแนวทางการเมืองหรือยุทธศาสตร์ทางการเมืองของตนเป็นสามประการคือ เทิดทูนฮ่องเต้ ทำการสิ่งใดก็ถือเอาพระบรมราชโองการเป็นสำคัญอย่างหนึ่ง สร้างความสามัคคีสมานฉันท์ในแผ่นดิน อย่างหนึ่ง และฟื้นฟูกอบกู้แผ่นดินให้เป็นปกติสุขอีกอย่างหนึ่ง

            เฉพาะอย่างหลังนั้นถือเอาการปราบปรามก๊กจ๊กและก๊กง่อเป็นหลัก

            ดูไปแล้วก็น่าคิดว่าอำนาจรัฐในปัจจุบันนี้กำลังคิดกำลังทำเหมือนกับแนวนโยบายทางการเมืองของโจโฉก็เป็นไปได้ และถ้าเป็นเช่นนั้นใครจะเป็นก๊กจ๊กหรือก๊กง่อในปัจจุบันเล่า? เพราะทั้งสองก๊กนี้จะต้องตกเป็นเป้าหมายแห่งการกำราบปราบปรามอย่างไม่ต้องสงสัย 
            ในสมัยสามก๊กนั้น มีกลุ่มผู้รักชาติอยู่กลุ่มหนึ่งถูกเรียกว่าโจรโพกผ้าเหลือง ทั้งๆ ที่ไม่เคยปล้นสดมภ์ใคร และมีกำลังพลกว่า 500,000 คน มากกว่ากำลังพลของกองทัพไทยเสียอีก แต่เป็นวิสัยจิตวิทยาการสงครามที่ต้องเรียกฝ่ายตรงกันข้ามว่าเป็นโจรเสมอไป

            พวกเสื้อเหลืองในปัจจุบันนี้ก็มีให้เห็นแล้ว และยังมีพวกเสื้อแดงอีกพวกหนึ่ง ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับยุคสามก๊กก็ต้องเรียกว่าเป็นพวกโจรโพกผ้าแดงบ้าง โจรโพกผ้าเหลืองบ้าง

            แต่พวกไหนจะเป็นโจรก็ต้องดูตามสภาพความเป็นจริง เพราะโจรนั้นชอบก่อความรุนแรง ชอบทำลายล้างและเข่นฆ่าโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมศีลธรรมแต่ประการใด

            และในวันนี้ก็เริ่มมีอาการปรากฎให้เห็นว่าทั้งพวกโพกผ้าแดงและโพกผ้าเหลืองกำลังถูกกระทำย่ำยีเช่นเดียวกันกับที่ก๊กเว่ยกระทำต่อก๊กจ๊กและก๊กง่อในยุคสามก๊กนั่นแล้ว

            จะต่างกันอย่างเดียวก็คือในสมัยสามก๊กนั้นไม่เคยปรากฎว่าโจโฉโกงบ้านกินเมืองหรือฉ้อราษฎร์บังหลวงจนบ้านเมืองฉิบหายป่นปี้เลย 
            ลองดูกันว่าก๊กง่อในสามก๊กนั้นเป็นอย่างไร ก๊กนี้ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง คือตั้งแต่ดินแดนที่ถูกเรียกว่าเจียงหนานตลอดไปทางใต้ถึง 83 หัวเมือง ผู้คนใฝ่ในการค้าขาย สันทัดในเชิงรับมากกว่าเชิงรุก

            ที่สำคัญคือมีคติในการใช้คนที่เป็นญาติสนิทชิดเชื้อหรือเป็นมิตรสหายใกล้ชิดเท่านั้น ถึงแม้จะมีนักปราชญ์เข้ามาร่วมงานเป็นจำนวนมากก็จัดไว้อยู่ในวงนอก ใช้สอยในฐานะเป็นลิ่วล้อบริวารหรือลูกจ้างเท่านั้น

            และบรรดานักปราชญ์หรือนักวิชาการเหล่านั้นต่างก็เป็นพวกเพ้อเจ้อเพ้อฝันจนถูกเรียกว่านักวิชาการเต้าหู้ยี้

            ก็ลองคิดดูกันเอาเองว่าสภาพของง่อก๊กกับปัจจุบันนี้จะเปรียบได้กับกลุ่มไหน ที่รักนิยมใช้แต่ญาติมิตรใกล้ชิด คิดแต่ทำธุรกิจหากำไรเป็นสรณะ แต่ไม่เอาไหนในการบริหารบ้านเมือง จนต้องสิ้นสูญอำนาจในที่สุด 
            ส่วนก๊กจ๊กนั้นทำการใหญ่ก็โดยอาศัยข้ออ้างว่าเป็นเชื้อสายพระวงศ์ของพระเจ้าเหี้ยนเต้ แต่ความจริงก็มิใช่พระญาติอันสนิท ต้องสืบสาวญาติวงศ์พงศาย้อนยุคขึ้นไปถึง 17 ชั่วคน จนกระทั่งถึงยุคพระเจ้าฮั่นเกงเต้โน่นแล้วจึงต่อเชื้อวงศ์ได้ติด

            เล่าปี่ได้อ้างความจงรักภักดีและความเป็นเชื้อพระวงศ์ที่นับสืบย้อนขึ้นไปถึง 17 ชั่วอายุคน สร้างความเคารพรักศรัทธาแก่มวลมหาชน แต่ก็ทำการใดไม่สำเร็จ

            จนกระทั่งไปคำนับเอกบุรุษผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทรจูกัดเหลียงขงเบ้งมาเป็นกุนซือ การใหญ่ก็คืบหน้าไปจนใกล้จะสำเร็จ เพราะนับแต่มังกรแห่งเทือกเขาโงลังกั๋งเลื้อยลงจากภูออกมาช่วยเหลือคิดอ่านวางแผนแล้ว แค่ 8 ปี เล่าปี่ก็สามารถต้อนแผ่นดินจีนเข้ามาอยู่ใต้อาณัติได้ถึง 1 ใน 3
            เล่าปี่มีข้อดีอยู่ประการหนึ่งคือหมั่นแสวงหาคนดีมีฝีมือมาใช้สอย และรู้จักทำนุบำรุงคนดีมีฝีมือให้มีอำนาจในบ้านเมือง หากเป็นคนไม่ดี ถึงแม้เป็นญาติวงศ์ก็ไม่ให้มีอำนาจในบ้านเมือง

            แผ่นดินทุกวันนี้ บางคนกล่าวว่าเป็นจลาจลเพราะไม่มีผู้มีสติปัญญาวิชาคุณแบบขงเบ้งมาช่วยเหลือ แต่แท้จริงแล้วอาจจะเป็นเรื่องตรงกันข้ามเพราะกรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี ผู้มีปัญญาวิชาคุณมีอยู่มากมาย แต่ขาดไร้คนแบบเล่าปี่ต่างหาก             ผู้มีอำนาจต่างพึงใจให้ใครต่อใครเข้าไปสวามิภักดิ์กราบกรานเป็นลิ่วล้อบริวาร แต่หาได้ใส่ใจที่จะแสวงหาผู้มีสติปัญญาวิชาคุณเข้ามาช่วยทำการกอบกู้บ้านเมืองเหมือนกับเล่าปี่ไม่

            ก๊กจ๊กของเล่าปี่ใช้ธงแผ่นดินสีเหลืองขอบแสดเป็นสัญลักษณ์ แต่จะเทียบกันได้หรือไม่กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ต้องคิดกันเอาเอง

            หากจะมองการเมืองไทยด้วยทัศนะสามก๊กในภาพกว้าง ๆ ก็พอจะเห็นเค้าลางอย่างที่ว่านี่แหละ แต่ความจริงแล้วสถานการณ์อาจย้อนขึ้นไปและอาจใกล้เคียงกับยุคก่อนที่จะเป็นสามก๊ก คือยุคที่พี่ชายของพระเจ้าเหี้ยนเต้สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าเหี้ยนเต้

            ในยุคนั้นราชสำนักฮั่นอ่อนแอ เพราะขุนนางต่างแย่งชิงอำนาจและฉ้อราษฎร์บังหลวง โฮจิ๋นอัครมหาเสนาบดีหลงเชื่อคำของอ้วนเสี้ยวให้เรียกกองทัพของตั๋งโต๊ะจากบ้านนอกเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในเมืองหลวง เพื่อช่วยกำจัดศัตรูภายในราชสำนัก 
            ตั๋งโต๊ะยกกองทัพใหญ่เข้ามาตามคำสั่ง แต่ตั้งกองทัพไว้นอกเมือง ป่าวประกาศให้รู้ทั่วกันว่ายกกองทัพมาครั้งนี้เพื่อช่วยโฮจิ๋นปราบปรามศัตรู

            เมื่อเป็นดังนั้นจึงกระตุ้นเตือนให้ศัตรูของโฮจิ๋นวางแผนร้ายสังหารโฮจิ๋นเสียอย่างโหดร้ายทารุณ เข้าลักษณะเป็นการหลอกไปล้อมกรอบฆ่าอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งอาจจะคล้าย ๆ กับแผนลอบสังหารหนุ่มมาร์คของเรานั่นเอง แต่โชคดีที่ฟ้ายังปรานีคุ้มครอง หนุ่มมาร์คจึงรอดจากอุ้งหัตถ์มัจจุราชมาได้ถึง 3 ครั้ง 3 ครา

            ครั้นโฮจิ๋นถูกสังหารแล้วก็เกิดการจลาจลขึ้นในเมืองหลวง ตั๋งโต๊ะจึงฉวยโอกาสนั้นเข้ายึดอำนาจ และกลายเป็นทรราชใหม่ที่ถูกสาปแช่งทั้ง 10 ทิศ
            ตั๋งโต๊ะครองอำนาจแล้วก็คิดยึดอำนาจราชสำนัก โดยการว่าราชการหลังม่าน จึงคิดถอดฮ่องเต้ออกจากตำแหน่ง แล้วให้ผู้น้องครองบัลลังก์แทน

            จึงเกิดความขัดแย้งกับเต๊งหงวนหรือเติ๊งหานจนหวิดจะฆ่ากัน แต่เต๊งหงวนมีขุนพลฝีมือดีคือลิโป้ช่วยเหลือไว้ จึงออกจากเมืองไปได้

            ทว่าลิโป้เป็นคนคดในข้องอในกระดูก คิดเห็นแต่ผลประโยชน์และกามคุณ จึงขายตัวให้กับตั๋งโต๊ะด้วยแก้วแหวนเงินทองและม้าเซ็กเธาว์อีก 1 ตัว ตัดหัวเต๊งหงวนซึ่งเป็นบิดาบุญธรรมของตนเอาไปมอบให้แก่ตั๋งโต๊ะ

            ตั๋งโต๊ะก็อาศัยลิโป้ครองอำนาจในแผ่นดินจีน จนมีผู้ล้อเลียนว่าถ้าไม่มีเขาเราก็เป็นใหญ่ไม่ได้
            ตั๋งโต๊ะเป็นทรราชมากขึ้นทุกที แผ่นดินก็เป็นจลาจลต่อไปอีก ผู้รักภักดีต่อแผ่นดินจึงวางแผนฆ่าตั๋งโต๊ะเสีย แต่ติดขัดด้วยลิโป้ซึ่งเป็นทหารเสือฝีมือเป็นเอก เพราะเมื่อเข้าด้วยตั๋งโต๊ะแล้วก็คำนับเอาตั๋งโต๊ะเป็นพ่อบุญธรรมคนที่สอง ไปไหนก็กอดกันเป็นเกลียว

            แต่ในที่สุดลิโป้ก็ขายตัวให้กับอ้องอุ้นด้วยหมวกยศ 1 ใบ และสตรีผู้เลอโฉมอีก 1 คนคือเตียวเสี้ยน ในที่สุดลิโป้ก็ฆ่าตั๋งโต๊ะเสีย

            แต่อ้องอุ้นครองอำนาจได้ชั่วประเดี๋ยวเดียวบ้านเมืองก็เป็นจลาจล ปั่นป่วนวุ่นวายไปทั่วอีกครั้งหนึ่ง จนพระเจ้าเหี้ยนเต้ต้องพลัดพรากจากพระนคร ในที่สุดก็มีการออกคำสั่งเรียกตัวโจโฉมาช่วยเหลือ โจโฉเสือตัวใหม่จึงตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ด้วยประการฉะนี้

            โจโฉครองอำนาจภายใต้พระปรมาภิไธยของฮ่องเต้จนตลอดชีวิต จนกระทั่งถึงยุคสมัยของโจผีก็ตั้งตนขึ้นเป็นเจ้า แต่ในที่สุดแผ่นดินก็ตกอยู่ในมือของนายทหารใหญ่คือสุมาเอี๋ยน ผู้บุตรของสุมาอี้ และสถาปนาราชวงศ์ต้าจิ้นครองแผ่นดินสืบมา

            โจโฉตายด้วยโรคประสาท เล่าปี่ตายด้วยความตรอมใจ ในขณะที่ซุนกวนก็ตายด้วยความทุกข์ทรมานเพราะลูกหลานไม่เอาถ่าน

            ยุคสมัยร่วมร้อยปีของสามก๊กได้กวาดกลบเอาทรชนและวีรชนล่วงลับดับสูญไปสิ้นตามกฎแห่งพระไตรลักษณ์ที่สรรพสิ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไปด้วยประการฉะนี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น