จุดประสงค์ของบล็อกนี้

บล็อกเกอร์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการเรียนการสอนวิชาอินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเพื่อให้ผู้ที่สนใจในเรื่องการเมืองไทยเข้ามาศึกษาเพิ่มเติมได้

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

สังคมและการเมืองไทยในอุดมคติ

สังคมและการเมืองไทยในอุดมคติ
               
สาระแนวความคิดทางการเมืองและสังคม


               
                    ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น ระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 จวบจนบัดนี้ 77 ปีแล้ว ถ้าจะพูดว่า 77  ปีที่ผ่านมาประสบความล้มเหลวในการสร้างประชาธิปไตยคงจะไม่ผิดมากนักเพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนในการที่จะสรรหาตัวแทนให้ไปทำหน้าที่แทนตนเองนั้นยังไม่ได้เป็นไปด้วยความเข้าใจในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอย่างแท้จริง  ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะในชนบท ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยความรู้ความเข้าใจตามอุดมการณ์และหลักการของประชาธิปไตยนั้นมีน้อยมาก ดังนั้นจึงต้องรู้เหตุแห่งความล้มเหลวแห่งการพัฒนาระบบประชาธิปไตย   การรู้เหตุแห่งความล้มเหลวของการสร้างประชาธิปไตยจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในปัญหาต่างๆ ของการสร้างประชาธิปไตย อันจะนำไปสู่ความสำเร็จของประชาธิปไตยในประเทศเรา นำไปสู่ความสำเร็จของการทำให้ประเทศเราเป็นประชาธิปไตย คำว่า “ประชาธิปไตย” มีความหมายหลายนัย เช่นหมายถึงเสรีภาพก็ได้ หมายถึงระบอบประชาธิปไตยก็ได้ หมายถึงการปกครองแบบประชาธิปไตยก็ได้ แต่เมื่อพูดถึงการสร้างประชาธิปไตยย่อมหมายถึงการสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือเมื่อพูดถึงการทำประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยย่อมหมายถึงการทำให้ประเทศมีการปกครองแบบประชาธิปไตย ไม่หมายถึงประชาธิปไตยในความหมายอย่างอื่น เราพูดถึงประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลาย ๆ ประเทศว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย ย่อมหมายความว่าประเทศเหล่านั้นมีการปกครองแบบประชาธิปไตย และการที่ประเทศเหล่านั้นมีการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือเป็นประเทศประชาธิปไตยก็เพราะสร้างประชาธิปไตยสำเร็จหรือทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยสำเร็จ การที่ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยได้นั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นขึ้นมาได้เฉยๆ แต่จะต้องสร้างประชาธิปไตยขึ้นมา และต้องสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จด้วยจิตวิญญาณของคนภายในชาติ  ถ้าไม่สร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จ ก็ไม่มีทางที่ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยได้ เราคนไทยต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่สร้างประชาธิปไตย แม้กระทั่งไม่พูดถึงการสร้างประชาธิปไตย หรือถ้าจะพูดถึงการสร้างประชาธิปไตยบ้าง เช่นภายหลังที่คณะ รสช. เข้าควบคุมอำนาจ ก็กลับหมายถึงการสร้างสิ่งอื่นที่มิใช่การสร้างประชาธิปไตย เช่นหมายถึงการสร้างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น เมื่อเราสร้างรัฐธรรมนูญก็ได้รัฐธรรมนูญ ไม่สร้างประชาธิปไตยก็ไม่ได้ประชาธิปไตย อยากได้ประชาธิปไตยแต่ไปสร้างรัฐธรรมนูญ ก็เหมือนอยากได้ข้าวแต่ไปปลูกถั่ว เรานึกถึงแต่การสร้างรัฐธรรมนูญ พูดถึงแต่การสร้างรัฐธรรมนูญ และรู้จักแต่การสร้างรัฐธรรมนูญ เราไม่นึกถึงการสร้างประชาธิปไตย ไม่พูดถึงการสร้างประชาธิปไตย และไม่รู้จักการสร้างประชาธิปไตย ถ้าไม่รู้จักการสร้างประชาธิปไตยก็จะไม่มีการสร้างประชาธิปไตยก็ไม่มีทางที่ประเทศเราจะเป็นประชาธิปไตยได้ ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้รู้และปัญญาชนที่จะต้องช่วยกันทำให้ประชาชนและผู้ปกครองรู้จักการสร้างประชาธิปไตย
                หลายครั้งที่เรานำเอาแนวคิดมาจากต่างชาติ เพื่อช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องการใช้อำนาจระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองเช่น วิธีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น  ซึ่งท้ายสุดก็ไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังไว้กลายเป็นการส่งข้าราชการจากส่วนกลางไปท้องถิ่นหรือเป็นการสร้างข้าราชการท้องถิ่นแบบใหม่ในรูปของ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) การกระจายอำนาจปกครองสู่ท้องถิ่น โดยเนื้อหานั้นเป็นเรื่องดี ที่ทุกคนยอมรับแต่ เมื่อนำมาปฏิบัติจริงกลับล้มเหลวเพราะตราบใดที่ระบบการบริหารจัดการยังผูกติดกับระบบ และระเบียบทางราชการมากเกินไป ความคล่องตัว ความโปร่งใสในสายตาประชาชนทั่วไปก็ยังมองว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐในแต่ละองค์กรยังเป็นเจ้านายอยู่จะไปขัดผลประโยชน์เขาไม่ได้มิฉะนั้นจะเกิดผลร้ายกับตนเอง  แนวทาง "ประชาสังคม" จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้การเมืองและสังคมไทยเป็นสังคมแห่งอุดมคติที่มีความเป็นประชาธิปไตยเหมาะสมกับสภาพของสังคมไทยที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  ลักษณะประชาสังคมของไทยไม่ใช่เป็นแบบตะวันตก กล่าวคือ ประชาสังคมของตะวันตกเกิดขึ้นจากคนชั้นกลางที่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐอยู่แล้ว และคิดสร้างประชาสังคมเพื่อเป็นการคานอำนาจรัฐ  ในขณะที่ประชาสังคมของประเทศไทย ก็เกิดขึ้นเพื่อเป็นการคานอำนาจรัฐเช่นเดียวกันแต่กลุ่มคนนั้นส่วนใหญ่เป็นคนที่ถูกกีดกันทางสังคม หรือเป็นกลุ่มที่รัฐมองว่าจะต้องกระทำให้หรืออีกนัยก็คือกลุ่มคนที่รัฐมองข้ามและไม่เห็นความสำคัญมากสักเท่าไร ดังนั้นประชาสังคมในไทยจึงเกิดขึ้นเพราะการไม่เห็นด้วยกับการทำงานของภาครัฐและภาคเอกชนที่เป็นแบบครอบงำ โดยที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมีส่วนร่วมน้อยมาก การเล่นพรรคเล่นพวกและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและกลุ่มเป็นใหญ่มากกว่าการเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมและไม่มีการใช้อำนาจจากประชาชนอย่างแท้จริง   ปัจจุบันกลุ่มนักวิชาการทางสังคมศาสตร์หลายกลุ่มก็พยายามผลักดัน "ประชาสังคม" ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการเมืองและสังคมไทยเพื่อไปสู่สังคมที่ดีในอนาคต
                   ประชาสังคม หรือ civil society เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากกลุ่มนักคิด นักวิชาการ  และกลุ่มชนชั้นกลางโดยอาจมีเนื้อหาหรือมุมมองที่มีความหมายเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยและแตกต่างกันไปบ้างตามพื้นฐานความคิดของแต่ละคนหรือกลุ่มคนเหล่านั้น  คำว่า “ประชาสังคม” หรือในภาษาอังกฤษคือ “civil society” เป็นคำที่มีความเป็นมายาวนาน สำหรับในสังคมตะวันตกนั้นมีพัฒนาการและมีการเปลี่ยนแปลง คือ  ช่วงก่อนศตวรรษที่ 18 แนวคิดประชาสังคมเป็นลักษณะของการร่วมกันระหว่างประชาชนกับรัฐ เป็นการดำรงอยู่แบบทาบซ้อนกันระหว่างสังคมกับรัฐไม่ได้แยกจากกัน โดย รุสโซ ได้เสนอความเห็นว่า สังคมมนุษย์ได้จัดระเบียบการปกครองขึ้นโดยมีสัญญาประชาคมเป็นข้อตกลงร่วมกันของสังคมซึ่งในการจัดระเบียบการปกครองนี้ สังคมได้จัดให้มี “ผู้ปกครองรัฐ” ขึ้นเป็นผู้ดูแลกฎระเบียบทางสังคม และมองในแง่ “ประชาสังคม” ว่าเป็นลักษณะของการจัดระเบียบทางการเมืองขึ้นภายในตัว โดยเป็นการเมืองที่ประชาชนเข้าร่วมโดยข้อตกลงร่วมกันอย่างยินยอมพร้อมใจ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประชาสังคมกับการเมืองคือสิ่งเดียวกันไม่ได้แยกจากกัน
                  นายแพทย์ประเวศ วะสี  มองว่า ในสภาพสังคมไทยปัจจุบันภาคส่วนหลักของสังคมซึ่งก็คือ “ภาครัฐ” และ “ภาคเอกชน” มีความเข้มแข็งและมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างมากซึ่งส่งผลต่อภาคสังคมหรือประชาชน คือ ทำให้สังคมขาดดุลยภาพและเกิดความล้าหลังในภาคของประชาชนหรือภาคสังคมโดยท่านใช้คำว่า “สังคมานุภาพ” ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการฟื้นฟูภาคนี้ให้มีความเข้มแข็งและเกิดดุลยภาพที่เรียกว่า “สังคมสมานุภาพ” โดยนายแพทย์ประเวศ วะสี เชื่อว่า หนทางที่ทำได้ก็คือ การพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งที่ชุมชน
                นายแพทย์ประเวศ วะสี  ได้ให้ความหมายของการเป็น ชุมชน ว่า หมายถึง การที่ประชาชนจำนวนหนึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีอุดมคติร่วมกันหรือมีความเชื่อร่วมกันในบางเรื่อง มีการติดต่อสื่อสารกันหรือมีการรวมกลุ่มกันจะอยู่ห่างกันก็ได้ มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีเรื่องจิตใจเข้ามาด้วยมีความรัก มีมิตรภาพ มีการเรียนรู้ร่วมกันในการกระทำ ในการ ปฏิบัติบางสิ่งบางอย่างและมีระบบการจัดการในระดับกลุ่ม และชุมชนจะมีความเข้มแข็งได้ก็ต้องมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ 1.มีเรื่องทางจิตใจ ธรรมมะและจิตวิญญาณ กล่าวคือ มีความรัก ความเอื้ออาทรต่อกัน ลดความเห็นแก่ตัวและนึกถึงส่วนรวม 2.มีการเรียนรู้ร่วมกัน กล่าวคือ มีการปฏิบัติร่วมกันไม่ใช่ลักษณะของการให้หรือรับเพียงฝ่ายเดียว และ 3.มีการจัดการ ซึ่งต้องเป็นไปด้วยกัน
               ดังนั้นประชาสังคมตามแนวความคิดของท่านก็คือ ลักษณะของ ความเป็นชุมชน ซึ่งไม่จำเป็นว่าสมาชิกในชุมชนจะต้องอยู่ใกล้ชิดกันอาจจะอยู่ห่างกันก็ได้ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับพื้นที่ แต่ที่สำคัญคือ จะต้องมีความเอื้ออาทรต่อกัน มีการช่วยเหลือกัน มีการสนับสนุนกันซึ่งเหล่านี้เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความสุขแก่กัน การกระทำของคนในระบบจะต้องใช้ปัญญาในการกระทำ เป็นลักษณะการร่วมกันทำ ร่วมกันระดมความคิด และต้องอาศัยการเรียนรู้ร่วมกันในทางปฏิบัติซึ่งต้องอาศัยความเป็นมิตรภาพและความรัก ตลอดจนมีการจัดการกับองค์กรหรือกลุ่มที่เกิดขึ้นซึ่งต้องอาศัยการเข้าใจเป็นระบบ และมีการเชื่อมโยงและกระทำร่วมกัน  สิ่งที่สำคัญคือ ลักษณะความสัมพันธ์นั้นจะต้องเป็นลักษณะความสัมพันธ์ในแนวนอนเพราะลักษณะความสัมพันธ์แบบนี้จะทำให้คนทุกคนมีโอกาสในการแสดงศักยภาพของตนเอง มีความรู้สึกเท่าเทียมกันสามารถรวมกลุ่มกันได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลให้ทุกคนสามารถพัฒนาและใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันก็มีลักษณะความสัมพันธ์ในแนวดิ่งเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งหมายถึง โครงสร้างอำนาจที่เป็นทางการ ดังนั้น “ประชาสังคม” หรือ “ชุมชนเข้มเข็ง” หรือ“สังคมสมานุภาพ” ของนายแพทย์ ประเวศ วะสี จึงเป็นการถักทอความสัมพันธ์ทั้งในแนวนอนและแนวดิ่งเข้าด้วยกัน ด้วยความรักความเข้าใจและความเป็นมิตรของคนทั้งในชุมชนและ ในสังคม
                อเนก เหล่าธรรมทัศน์   มองว่า “ประชาสังคม” หรือ “civil society” เป็นคำที่มีความหมายรวมถึงทุกชนชั้นของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ประชาชน คนทุกข์ยากลำบาก คนชั้นกลาง นักวิชาการ หรือคนชั้นสูง โดยเน้นเรื่องของความสมานฉันท์ ความกลมเกลียว มากกว่าความแตกต่างหรือความแตกแยกภายในสังคม  และไม่จำเป็นที่คนเหล่านั้นจะต้องรู้จักกันหรือมีความใกล้ชิดกันก็ได้ แต่เป็นลักษณะของการมีความคิดที่ร่วมกัน ตรงกันที่จะร่วมกันในการดูแลบ้านเมืองภายใต้ความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของโดยใช้คำว่า มีความเป็น “พลเมือง”  ซึ่ง อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้เน้นไปที่ คนชั้นกลาง เป็นสำคัญ ในมุมมองของท่าน การสร้าง “ประชาสังคม” จะต้องอาศัยการสร้างวัฒนธรรมและมีหลักการเพื่อก่อเกิดการร่วมมือกันและรวมกันเพื่อการแก้ไขปัญหา และการสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคมภายใต้ความคิดและการขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ
                  ประชาสังคม  ในความหมายของอเนก เหล่าธรรมทัศน์ จึงหมายถึง สังคมขนาดใหญ่ มีความซับซ้อน ที่ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นเครือญาติ   และไม่จำเป็นต้องเป็นความสัมพันธ์แบบคุ้นหน้า    แต่เป็นลักษณะของความผูกพันธ์   และการร่วมกันของผู้คนที่หลากหลายบนจิตสำนึกของความเป็นพลเมือง เพื่อการลดบทบาท อำนาจและขนาดของรัฐลง ภายใต้ความรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของบ้านเมือง เป็นลักษณะของการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักและในขณะเดียวกันตนเองก็สามารถที่จะคิดหรือทำอะไรได้ในลักษณะของประโยชน์ส่วนตนแต่ความเป็นประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวมนั้นต้องมีการประสานกันหรือร่วมกัน
                 จากความหมายของ “ประชาสังคม” ข้างต้นที่ยกมา พอที่จะสรุปประเด็นความหมายโดยรวมของ “ประชาสังคม” ว่า หมายถึง การที่ผู้คนในสังคมมีจิตสำนึกของความเป็นพลเมือง เป็นเจ้าของสังคมและมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม องค์กร หรือสมาคม เพื่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมหรือเป็นไปเพื่อการสร้างประโยชน์แก่สังคมภายใต้ความรู้สึกว่าเป็นกลุ่มหรือพวกเดียวกัน และอยู่บนพื้นฐานของความรัก ความเอื้ออาทร ความสมานฉันท์ เพื่อช่วยเหลือกัน สนับสนุนกัน โดยมีการร่วมกันคิดและร่วมกันทำ มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในระบบความสัมพันธ์ในแนวนอนหรือแนวราบที่ทุกคนมีอิสระเสรีภาพที่เท่าเทียมกันและเคารพสิทธิกันและกัน โดนความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่การเจอหน้ากันก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะของการมีอิสระและเสรีภาพปราศจากการครอบงำจากองค์กรสถาบันหรือกลุ่มใด ๆ
              จากความหมายของ “ประชาสังคม” ที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถเห็นได้ว่ามีความเชื่อมโยงและความสอดคล้องกับ “การพัฒนาสังคม” ดังต่อไปนี้คือ
              ประการแรก มีความสอดคล้องกับปรัชญาขั้นมูลฐานของการพัฒนาสังคม กล่าวคือ การพัฒนาสังคมอยู่บนปรัชญาพื้นฐานที่เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน สามารถที่จะเลือกหรือกำหนดวิถีชีวิตของตนเองได้ตามความต้องการที่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องเหมาะสม มนุษย์สามารถที่จะพึ่งตนเองได้ และหากมีโอกาสและมีการเรียนรู้ก็จะสามารถที่จะพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพสูงขึ้นรวมทั้งมีพลังความสามารถที่จะคิดริเริ่มการกระทำได้ มีความเป็นผู้นำ และมีความคิดใหม่ ๆ ได้เสมอ และสามารถที่จะพัฒนาความสามารถได้ในทุกด้าน ซึ่งในความหมายของประชาสังคมก็มีความสอดคล้องกับปรัชญามูลฐานเหล่านี้ กล่าวก็คือ ประชาสังคม นั้นมีความคิดอยู่บนความเชื่อพื้นฐานที่ว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีและมีศักยภาพที่เท่าเทียมกันแต่อาจจะแตกต่างกันไปบ้างตามบริบทของสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การเชื่อในความคิดและการกระทำของคนที่จะสามารถร่วมกันเพื่อการแก้ปัญหาในสังคมหรือเพื่อก่อเกิดการกระทำหรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมภายใต้การพึ่งตนเอง และการเปิดโอกาสในการเรียนรู้  ในการคิดและการกระทำซึ่งแต่ละคนย่อมมีความคิดและสามารถที่จะคิดและทำร่วมกันได้ซึ่งย่อมที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านความคิด การกระทำและปัญญา ซึ่งเป็นทั้งการดึงและการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ที่มี
               ประการที่สอง มีความสอดคล้องกับคุณลักษณะบางประการของการพัฒนาสังคม  กล่าวคือ แนวคิดหรือความหมายของประชาสังคมที่เห็นว่ามนุษย์มีสิทธิที่จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือเป็นองค์กรภายใต้การมีความคิดหรือจิตสำนึกร่วมกันที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมหรือเป็นไปเพื่อการกระทำเพื่อก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคมตามความรู้สึกเป็นเจ้าของอย่างอิสระปราศจากการบังคับหรือครอบงำ และเป็นการกระทำร่วมกันโดยใช้ปัญญาซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านความคิดที่อยู่บนฐานของการพึ่งตนเอง เห็นได้ว่ามีความสอดคล้องกับคุณลักษณะของการพัฒนาสังคมในส่วนที่ว่า ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิที่จะเลือกจุดหมายและสามารถที่จะตัดสินใจที่จะกระทำการอันในก็ได้ตามที่เล็งเห็นแล้วว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนของตนเองโดยอยู่บนพื้นฐานของภูมิปัญญาที่มีและเป็นการตัดสินใจเองว่าจะทำหรือไม่และเป็นการกระทำที่ทำร่วมกันโดยการรวมกันเป็นกลุ่ม องค์กร หรือสถาบัน ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาทางด้านความคิด การกระทำ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการพึ่งตนเองและการมีส่วนร่วมอย่างกว้างของประชาชน
                   ประการที่สาม มีความสอดคล้องกับมิติบางมิติของการพัฒนาสังคม กล่าวคือ มีความสอดคล้องกับมิติการพัฒนาสังคมที่เป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการพัฒนาที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้และปัญญา โดยผ่านกระบวนการคิด การทำและการแก้ปัญหาร่วมกันของคนในชุมชนภายใต้การมีจิตสำนึกในความเป็นชุมชนร่วมกันซึ่งอาศัยกลุ่มเป็นตัวเสริมสร้างให้เกิดกระบวนการเหล่านี้ ขณะเดียวกันคนในชุมชนก็ต้องมีการผนึกกำลังกันเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่พึงปรารถนา อีกมิติหนึ่งก็คือ มิติที่เป็นขบวนการที่มีลักษณะของการเป็นสถาบันที่มีการขับเคลื่อนภายใต้อุดมการณ์และความคิดที่แรงกล้าเพื่อที่จะสามารถผนึกและขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ ซึ่ง ประชาสังคมมีความสอดคล้อง คือ ในการเป็นประชาสังคมนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการรวมกันไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ กลุ่ม องค์กร สมาคมหรือว่าสถาบัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดการเพื่อให้ประชาสังคมสามารถมีความเข้มแข็งและดำรงอยู่ได้ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของสมาชิกทั้งทางด้านความคิด การกระทำและรวมถึงการเรียนรู้ที่จะเกิดร่วมกันและที่จะเกิดขึ้นใหม่ อีกทั้งต้องมีการระดมปัญญา ภายใต้เป้าหมายหรือจุดประสงค์ที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม การแก้ปัญหาหรือแม้แต่การกระทำกิจกรรมเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมต่อไป
                    ประการที่สี่  มีความสอดคล้องกับหลักการในการพัฒนาสังคมบางประการ  กล่าวคือ ประชาสังคม เน้นในเรื่องการมีส่วนร่วมของคนไม่ว่าจะเป็น ความคิด การแก้ปัญหา หรือการทำประโยชน์แก่ส่วนรวม ซึ่งต้องเป็นการใช้พลังความสามารถและศักยภาพทีมีของมนุษย์มาใช้โดยอยู่บนพื้นฐานความคิดและความเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และศักยภาพที่คนแต่ละคนมี ความคิดการตัดสินใจและการกระทำที่เกิดขึ้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเองและมีอิสระและสามารถที่จะเรียกร้องหรือปฏิเสธในสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับสังคมได้ รวมถึงการมีอำนาจในการต่อรองกับภาครัฐภายใต้การจัดการของประชาสังคมเอง ซึ่งเหล่านี้มีความสอดคล้องกับหลักการการพัฒนาสังคมคือ หลักการมีส่วนร่วมที่มีการคิดและทำร่วมกันอย่างเป็นอิสระไม่บังคับแต่อยู่ที่จิตสำนึกร่วมที่จะต้องก่อให้เกิดขึ้น หลักการพึ่งตนเองที่มนุษย์สามารถที่จะคิด ตัดสินใจหรือกระทำการใด ๆได้ด้วยตนเองที่เห็นแล้วว่าถูกต้องเหมาะสมและอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในศักดิ์ศรีและสิทธิของความเป็นมนุษย์
                    จากทั้งหมดจึงอาจกล่าวได้ว่า “ประชาสังคม” ถือได้ว่าเป็นอีกแนวความคิดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เป็นระบบฐานคิดใน “การพัฒนาสังคม” เพื่อเป็นตัวที่เสริมให้การพัฒนาสังคมมีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นสังคมแห่งอุดมคติ ไม่ว่าจะเป็น การนำมาเป็นแนวคิดพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกในความเป็นเจ้าของชุมชน การรักชุมชน การมีสิทธิที่จะออกความคิดเห็นและการกระทำที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนซึ่งในความหมายประชาสังคมของ  อเนก เหล่าธรรมทัศน์ใช้คำว่า “ความเป็นพลเมือง”  การมีความรักต่อกัน การสนับสนุนกัน การเอื้ออาทรต่อกัน และความสมานฉันท์กลมเกลียวกันของคนในชุมชน การสร้างความสัมพันธ์ในแนวนอนหรือแนวราบ เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเชื่อมั่นในศักยภาพของคนในชุมชนก่อเกิดการร่วมกันในการคิด การกระทำ เพื่อเป็นพลังในการพัฒนาสังคม ซึ่งจะทำให้การพัฒนาสังคมเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ที่กล่าวมาก็ใช่ว่าในการพัฒนาสังคมจะไม่มีสิ่งเหล่านี้แต่หารนำแนวคิด “ประชาสังคม” เข้าไปเสริมอีกขั้นก็จะสามารถทำให้การพัฒนาสังคมเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และในอีกแง่ก็อาจมองได้ว่าในความหมายของประชาสังคมก็มีความคาบเกี่ยวและสอดคล้องกับการพัฒนาสังคมซึ่งได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นแต่ขณะเดียวกันความแตกต่างก็ยังคงมี ที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนก็คือ ประชาสังคมสามารถที่จะเกิดได้ทั้งในระดับจุลภาค(ระดับเล็ก)  มัธยภาค(ระดับกลาง) และมหภาค แต่การพัฒนาสังคมนั้นเป็นไปในระดับจุลภาค(ระดับเล็ก)หรือ มัธยภาค(ระดับกลาง)เท่านั้น
               
                           ประชาสังคม ก็คือการรวมตัวของสมาชิกเพื่อเชื่อมประสาน ผลประโยชน์ ทรัพยากร หรืออำนาจ ระหว่างปัจเจกชนกับรัฐนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น