จุดประสงค์ของบล็อกนี้

บล็อกเกอร์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการเรียนการสอนวิชาอินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเพื่อให้ผู้ที่สนใจในเรื่องการเมืองไทยเข้ามาศึกษาเพิ่มเติมได้

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

อนาคตการเมืองไทยท่ามกลางความขัดแย้ง




ในท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองระยะนี้ แม้ว่าด้านหนึ่งจะเป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน อุดมการณ์ที่ต่อสู้ช่วงชิงในสนามการเมืองมี 5 อุดมการณ์หลักคือ1) อนุรักษ์นิยมใหม่(Neo-Conservative) มีความเชื่อว่า โลกาภิวัฒน์นำมาซึ่งความมั่งคั่ง กำแพงภาษีระหว่างประเทศควรถูกกำจัด เปิดโอกาสให้ทุนไหวเวียนอย่างเสรี และหลักคิดการบริหารธุรกิจภาคเอกชนเท่านั้นที่มีประสิทธิภาพ กลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์แบบนี้คือกลุ่มทุนใหม่ซึ่งมีทุนโทรคมนาคมเป็นแกนนำ พรรคการเมืองที่กลุ่มผู้บริหารพรรคมีอุดมการณ์นี้คือ อดีตพรรคไทยรักไทย ซึ่งกลายสภาพเป็นพรรคพลังประชาชนในเดือนสิงหาคม 2550 อย่างไรก็ตามบุคคลที่มีอุดมการณ์เช่นนี้แทรกซึมอยู่แทบทุกพรรคการเมือง แม้ว่าจะมีระดับความมากน้อยและความเข้มข้นในเชิงอุดมการณ์แตกต่างกันบ้าง




2)อุดมการณ์อุปถัมภ์นิยม (Clientelism) เป็นอุดมการณ์หลักที่ครอบงำสังคมการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน ในระยะหลังความเข้มข้นของอุดมการณ์นี้ลดลงในกลุ่มชนชั้นกลาง แต่ยังคงมีความเข้มข้นในกลุ่มชนชั้นชาวบ้านและชนชั้นนำทางการเมือง ชนชั้นนำทางการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น อาศัยอุดมการณ์อุปถัมภ์เป็นกลไกในการสร้างเครือข่ายหัวคะแนนและจัดตั้งมวลชนในชนบทให ้มาสนับสนุนตนเองเมื่อเกิดกรณีการต่อสู้ทางการเมืองทั้งในเรื่องการเลือกตั้ง และการชุมนุมประท้วง อุดมการณ์นี้แทรกซึมอยู่ทุกพรรคการเมือง ทั้งพรรคใหญ่บ้าง พรรคเล็กบ้าง แต่จะมีมากในพรรคที่ถูกจัดตั้งโดยกลุ่มอดีต ส.ส.ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ




3)อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมดั้งเดิม(Traditional Conservative) เชื่อในเรื่อง การรักษาสถานภาพเดิมของสังคม เชิดชูความมั่นคงสถาบันหลักของสังคม กลุ่มที่ดำรงอุดมการณ์แบบนี้คือ กลุ่มทุนเก่า เช่น ทุนการเงิน และอุตสาหกรรมหนักบางประเภท กลุ่มข้าราชการส่วนใหญ่ บางครั้งกลุ่มนี้ได้รับการเรียกว่า เป็นกลุ่มอำมาตยาธิปไตย กลุ่มนี้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายชี้นำสังคมไทยมายาวนาน แต่บทบาทเริ่มลดลงเมื่อมีการปฏิรูปการเมืองในปี 2540 และในเวลาต่อมาได้ถูกสั่นคลอนอย่างหนักจากระบอบทักษิณซึ่งนำพาอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ใหม่เข้ามาจัดการภายในระบบราชการ พรรคการเมืองที่มีแนวโน้มยึดถือในอุดมการณ์นี้คือ พรรคชาติไทย และพรรคประชาราช เป็นต้น




4)อุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย(Liberal Democracy) มีความเชื่อพื้นฐานว่า เสรีภาพและความเป็นปัจเจกบุคคลเป็นสิ่งที่มีคุณค่าของมนุษย์ กลุ่มที่มีแนวคิดเช่นนี้คือกลุ่มชนชั้นกลางซึ่งประกอบด้วยพ่อค้า นักธุรกิจรายย่อย ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจระดับกลาง พนักงานเอกชนระดับกลาง และผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งหลาย กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นภายหลังปี 2540 และขยายตัวจนกลายเป็นพลังในการต่อต้านระบอบทักษิณ พรรคการเมืองที่อาจถือได้ว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มอุดมการณ์นี้ คือพรรคประชาธิปัตย์




5) อุดมการณ์การประชาสังคมประชาธิปไตย(Civil Society Democracy) มีความเชื่อว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในทุกระดับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับสังคม กลุ่มที่นำอุดมการณ์นี้ไปปฏิบัติการทางการเมืองคือ กลุ่มองค์การพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และนักการเมืองบางกลุ่ม กลุ่มนี้มีความมุ่งหมายที่จะผลักดันให้สังคมเป็นสังคมแห่งการมีส่วนร่วม โดยให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งตนเอง และสามารถบริหารจัดการชุมชนด้วยตนเองได้ ปัจจุบันยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่ใช้อุดมการณ์นี้ไปปฏิบัติการทางการเมือง




อนาคตการเมืองไทยในท่ามกลางความขัดแย้ง




จากสภาพการที่เป็นจริงทางสังคมการเมืองดังที่ได้วิเคราะห์มาข้างต้น สามารถสรุปแนวโน้มการเมืองไทยในอนาคตได้ดังนี้




1)การต่อสู้ทางการเมืองมีความเข้มข้นขึ้น ปริมาณกลุ่มและสถาบันของสังคมจะเข้าสู่สนามการต่อสู้ทางการเมืองมากขึ้น และเกิดขึ้นในทุกระดับทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ




2)การเสื่อมศรัทธาต่อสถาบัน ทั้งสถาบันทางการเมือง สถาบันการบริหาร สถาบันองค์การตรวจสอบอิสระ สถาบันทางสังคม การเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันเหล่านี้เกิดมาจากในระยะสี่ถึงห้าปีที่ผ่านมา สถาบันเหล่านี้โดยเฉพาะสถาบันทางการเมือง บริหาร และองค์กรอิสระได้ถูกแทรกแซงและทำลายความเที่ยงธรรมโดยระบอบทักษิณ การรื้อฟื้นศรัทธาขึ้นมาอีกครั้งจึงเป็นภาระที่หนักหน่วงของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่ง ในขณะนี้และในระยะต่อไป




สถาบันทางสังคม โดยเฉพาะสถาบันทางศาสนาซึ่งได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการบรรจุประโยค “ให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย” ลงในรัฐธรรมนูญ วิธีการเคลื่อนไหวเรียกร้องของคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งได้สร้างภาพลักษณ์เชิงลบเกิดขึ้นแก่ สาธารณชน เพราะมีการกระทำทางสังคมหลายประการของสงฆ์บางส่วนที่สังคมชาวพุทธไม่อาจยอมรับได้




สถาบันที่ประชาชนให้ความเชื่อถือสูงอยู่บ้างก็คือ สถาบันตุลาการซึ่งกลายเป็นเสาหลักในการค้ำยันวิกฤติของสังคมไทยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามก็ยังมีข่าวที่อาจมีการสร้างความเสื่อมเสียแก่สถาบันนี้อยู่บ้าง ด้วยการกระทำของบุคคลบางในสถาบันที่เกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น