จุดประสงค์ของบล็อกนี้

บล็อกเกอร์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการเรียนการสอนวิชาอินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเพื่อให้ผู้ที่สนใจในเรื่องการเมืองไทยเข้ามาศึกษาเพิ่มเติมได้

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

ประเทศไทยในยุคสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมของ เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลง



จากสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลง ไปอย่างมีนัยสำคัญ ได้ส่งผลให้ประเทศไทยในวันนี้อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้าง ที่สำคัญ ๓ ประการ คือ

๑.     การเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงและยังไม่สามารถก้าวพ้นวิกฤตได้อย่าง ยั่งยืน ด้วยเหตุผลที่สำคัญ คือ
         ๑.๑     วันนี้เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง และอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองไปสู่ศูนย์ กลางใหม่ทางทวีปเอเชียในระยะยาว สหรัฐอเมริกายังมีการว่างงานสูง อีกทั้งสถาบันการเงิน ครัวเรือน และรัฐบาลยังอ่อนแอด้วยภาระหนี้เกินตัว เศรษฐกิจยุโรปเผชิญปัญหาการคลังและมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใน หลายประเทศ ทั้งกรีซ สเปน และอิตาลี รวมทั้งภาระอุ้มชูเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปซึ่งก่อให้เกิดความ ไม่แน่นอนของการถือครองทรัพย์สินในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐและทรัพย์สินอื่น ๆ ในขณะที่จีนและอินเดียกลับมีศักยภาพ ในการขยายตัวของเศรษฐกิจและกลุ่มชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะบทบาทและความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มมีมากขึ้นและแผ่ ขยายในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก โดยได้เปลี่ยนผ่านจากการเป็นโรงงานผลิตของโลกไปสู่การบริหารและ ถือครองทรัพย์สินและทรัพยากรพลังงานของโลกได้อย่างสมบูรณ์แบบ
       ๑.๒    โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาการส่งออกสินค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างมาก จึงมีความเสี่ยงสูงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และยังไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างเต็มที่จากการผลิตและการใช้ทรัพยากรของประเทศ ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนการพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศลดลงจากร้อยละ ๗๔.๘ ในปี ๒๕๕๒ เป็นร้อยละ ๖๗.๕ ในปี ๒๕๕๓ จึงทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวเมื่อโลกมีวิกฤตเศรษฐกิจ (ติดลบร้อยละ ๒.๓ ในปี ๒๕๕๒) และขยายตัวเมื่อโลกฟื้นตัว (ขยายตัวร้อยละ ๗.๘ ในปี ๒๕๕๓) เป็นวงจรอย่างนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า การขยายตัวดังกล่าวมาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ ๒๘.๕ ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เป็นของบริษัทต่างชาติที่ไทยเป็น เพียง แหล่งประกอบ ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรยังคงเป็นการส่งออกวัตถุดิบที่ราคาผันผวนขึ้นกับ ตลาดโลก ในขณะที่การท่องเที่ยวขยายตัวจากการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่าการเพิ่ม มูลค่าของบริการและขาดการบริหารจัดการที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน
       ๑.๓    ประเทศไทยยังคงนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศสูง สัดส่วน การนำเข้าพลังงานสุทธิต่อการใช้รวมยังคงสูงถึงร้อยละ ๕๕ โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของการขนส่งและการผลิตสินค้าที่มีผลกระทบต่อค่าครอง ชีพและต้นทุน การผลิตที่ต้องแข่งขันกับต่างประเทศ แม้ว่าในภูมิภาคอาเซียนเองจะมีแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติมากมาย แต่การแสวงหาความร่วมมือเพื่อการพัฒนาความมั่นคงของพลังงานในภูมิภาคยังมี น้อย และจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อประเทศไทยในระยะยาว
       ๑.๔    ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มีอยู่สูงแสดงถึงฐานเศรษฐกิจ ที่ยังไม่เข้มแข็ง ประชาชนระดับฐานรากยังมีรายได้น้อยและขาดโอกาสในการเพิ่มรายได้ โดยส่วนใหญ่อยู่ในสาขาเกษตร และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่สนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงไม่มีโอกาสที่จะเติบโตเป็นชนชั้นกลางที่จะเป็นฐานการบริโภค และสร้างสินค้าและบริการที่มีคุณค่าและเป็นของตนเองได้ และในช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่ ช่วงภาวะเงินเฟ้อก็จะเป็นกลุ่มคนที่เดือดร้อนจากค่าครองชีพและต้นทุนการผลิต มากกว่าคนอื่น

๒.     การเปลี่ยน ผ่านทางด้านการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง ที่ผ่านมา แม้จะมีผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาผูกโยงกับภาวะการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจโลก และในขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อที่ ว่า สังคมไทยและคนไทยจะสามารถ หาข้อสรุปที่นำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ได้ในที่สุด
อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งดังกล่าวย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อการวางพื้นฐานเพื่ออนาคตระยะ ยาว และทำให้สูญเสียโอกาสในการเดินหน้าเพื่อพัฒนาประเทศในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียงเฉลี่ยร้อยละ ๓.๖ ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพ ที่ควรจะเป็น และส่งผลต่อความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาที่เป็นพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ ในประเทศคือ ความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้

๓.     การเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างประชากรและสังคมไทย โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุจะมีผลกระทบต่อปริมาณ และคุณภาพของคนไทยในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งปัญหายาเสพติด และปัญหาวัยรุ่นที่จะบั่นทอนคุณภาพของเยาวชนไทย ซึ่งมี ความจำเป็นต้องพัฒนาระบบการศึกษา การให้บริการสุขภาพและสร้างสวัสดิการที่มั่นคงให้แก่คนไทยทุกคน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลง ในภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต เช่น ภาวะโลกร้อน ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และกฎระเบียบของการแข่งขันในตลาดโลก เป็นต้น  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น